"ภูเก็ต"เนื้อหอมทุนใหญ่เฮโลลงทุนโรงแรมหรูพรึบ จ่อเปิดใหม่นับหมื่นห้อง

30 เม.ย. 2566 | 04:54 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2566 | 06:32 น.

“ภูเก็ต” เนื้อหอม ทุนใหญ่เฮโลลงทุนโรงแรมหรู เผยมีโรงแรมในไปป์ไลน์การลงทุนตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงปี 2575 เพียบ หากรวมธุรกิจอสังหาฯปล่อยเช่าทำโรงแรมจะมีมากถึง 38 โรงแรม รวมห้องพักกว่า 14,357 ห้อง

การท่องเที่ยวภูเก็ต” กลับเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ประเทศไทยยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้นับจากปลายปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาจากทั่วโลก โดยปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารเข้า-ออก สนามบินภูเก็ต ราว 40,000 คนต่อวัน มีเที่ยวบิน 260 เที่ยวบินต่อวัน ถือว่าฟื้นตัวกลับขึ้นมา 70-80% คาดว่ากลางปี 2566 จะเริ่มใกล้เคียงกับปี 2562

นั่นหมายถึงการท่องเที่ยวหลังโควิด ภูเก็ตกำลังจะกลับสู่ภาวะปกติเร็วกว่าจังหวัดอื่น ทั้งนี้หากไม่รวมกรุงเทพฯก็จะเห็นว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 1 ของไทย ก่อนโควิดทำรายได้สูงถึง 4.7 แสนล้านบาท และการดีดกลับของการท่องเที่ยวภูเก็ตหลังโควิดซึ่งเร็วกว่าคาด ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมภูเก็ตนับจากปลายปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้สูงถึง 80% แล้ว เพิ่มจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 48% และเพิ่มจากปี 2564 ที่อยู่แค่ 8%

การกลับมาฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภูเก็ตหลังโควิด จากข้อมูล Phuket Hotel Market Update 2023 โดย ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส (C9 Hotelworks) ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว และบริการระดับเอเชีย ระบุชัดว่า กราฟการท่องเที่ยวภูเก็ตเริ่มทะยานสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงมีนาคม 2566

โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในภูเก็ตเป็นนักท่องเที่ยว “Snowbird” ที่หนีหนาวมาจากรัสเซียเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยยุโรปเหนือ ยุโรปตะวันออก สแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักดั้งเดิมของเกาะ และอินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่าแม้ว่าตัวเลขจะลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนเกือบหนึ่งล้านในปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการจำกัดการขนส่งทางอากาศโดยตรง เนื่องจากการควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารที่พุ่งสูงขึ้น 200- 300% ในหลายกรณี แต่ทั้งนี้กลับพบว่าภูเก็ตมีจำนวนวันเข้าพักจากค่าเฉลี่ย 11 วัน กลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 50%  และยังเห็นถึงการเคลื่อนไหวของธุรกิจโรงแรมจำนวนมากที่พลิกโฉมจากการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ

บิล บาร์เน็ต

นายบิล บาร์เน็ต (Bill Barnett) กรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส (C9 Hotelworks) กล่าวว่า “การมาถึงของนักท่องเที่ยวจากรัสเซียไม่เพียงแต่สร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสำหรับธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวให้กับเกาะภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังแผ่กระจายไปสู่ธุรกิจค้าปลีก การขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย

ทั้งนี้ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นกลุ่มผู้นำด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (direct foreign investment FDI) ที่เฟื่องฟูที่สุดของภูเก็ต ซึ่งจะเห็นได้จากราคาที่ดินทั่วเกาะมีอัตราที่สูงขึ้นในรอบกว่าสองทศวรรษ”

เมื่อพิจารณาจากตัวเลขและแนวโน้มสำคัญในอุตสาหกรรมการบริการของภูเก็ต การวิจัยของซีไนน์ยังชี้ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของธุรกิจโรงแรมภูเก็ตจำนวนมากที่พลิกโฉมจากการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ โดยเปลี่ยนจากข้อตกลงการจัดการแบบเดิมเป็น “แฟรนไชส์” รวมทั้งเปลี่ยนแบรนด์บริหาร ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดระดับโลก

อาทิ “เดสทิเนชั่น กรุ๊ป” (Destination Group) ผู้พัฒนาโรงแรมแระรีสอร์ตเจ้าใหญ่ในภูเก็ต ได้บรรลุข้อตกลงกับ “อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเทลส์ กรุ๊ป” (IHG) เพื่อเปิดตัวโรงแรม “ฮอลิเดย์ อินน์” แห่งใหม่ในภูเก็ต และได้ร่วมมือกับ “กลุ่มเรดิสัน” เพื่อเตรียมเปิดโรงแรมอีกสองแห่ง

นอกจากนี้ “อาเคเดีย” (Arcadia) หนึ่งในกลุ่มโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดของเกาะยังได้รีแบรนด์โรงแรมเป็น “พูลแมน” (Pullman) แบรนด์ในเครือแอคคอร์ (ACCOR)

ขณะที่ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” (AWC) ยักษ์ใหญ่ด้านการบริการของไทย ได้รีแบรนด์ “เวสทิน สิเหร่ เบย์” (Westin Siray Bay) ให้เป็นรีสอร์ตหรูภายใต้แบรนด์ “ริทซ์-คาร์ลตัน” (Ritz-Carlton) อีกด้วย

การลงทุนโรงแรมใหม่ในภูเก็ต

ทั้งนี้ในปี 2565 ภูเก็ตมีโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 1,786 แห่งรวมจำนวนห้องพักกว่า 92,604 ห้อง ขณะที่ทิศทางการลงทุนโรงแรมใหม่ในภูเก็ตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงแรมในระดับ Upper  Midscale ขึ้นไปจนถึงระดับลักชัวรี่ โดยในปี 2566 มีโรงแรมใหม่ที่จะเปิดให้บริการในปีนี้มี 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรมพูลแมน อาเคเดีย กะรน บีช (รีแบรนด์), โรงแรมนารายณ์ ไม้ขาว, โรงแรม La Green (เดิมเป็นลายัน กรีน พาร์ค) และโรงแรมโฮมา ภูเก็ต เชิงทะเล รวมจำนวนห้องพักกว่า 1,732 ห้อง

ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะมีโรงแรมใหม่เปิดเพิ่มอีก 8 แห่ง รวมห้อง พัก 1,820 ห้องอาทิ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ ภูเก็ต กะตะ, โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส แอนด์ สวีท กะตะ, โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ วานา นาวา ภูเก็ต, โรงแรม เอ็มแกเลอรี มอนท์เอซัวร์ เลคไซด์ ภูเก็ต หาดกมลา, โรงแรมอังสนา โอเชี่ยนวิว หาดบางเทา, โรงแรม เรดิสัน ภูเก็ต ไม้ขาว, โรงแรม คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท ป่าตอง, โรงแรมมีเลีย ภูเก็ต กะรน, โรงแรมเมอเวนพิค ภูเก็ต กมลา

ปี 2568 คาดว่าจะมีโรงแรมเปิดใหม่อีก 3 แห่ง ราว 699 ห้อง ได้แก่ โรงแรมมีเลีย ภูเก็ต กะรน, โรงแรม เมอเวนพิค ภูเก็ต กมลา และโรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส ภูเก็ต กะตะ

ปี 2569 คาดว่าจะมีโรงแรมเปิดใหม่อีก 4 แห่ง ราว 680 ห้อง ได้แก่ โรงแรมวีรันดา ภูเก็ต ออโตกราฟ คอลเลคชั่น, โรงแรมเจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต แอนด์ สปา อ่าวฉลอง, โรงแรม ดับเบิ้ลยู ภูเก็ต ในหาน, โรงแรม คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท อ่าวฉลอง

นอกจากนี้ยังมีโรงแรมใหม่ในภูเก็ตที่อยู่ในไปป์ไลน์การลงทุนตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงปี 2575 อีกเพียบ เบ็ดเสร็จแล้วนับจากนี้จะมีโรงแรมใหม่เปิดให้บริการไม่ตํ่ากว่า 18 แห่ง รวมห้องพักกว่า 7,965 ห้อง ซึ่งไม่มีเพียงแต่โรงแรมเท่านั้น ยังมีโครงการอสังหาหรือเรสสิเดนท์ เพื่อการลงทุน ซึ่งมีทั้งกำหนดให้ผู้ซื้อนำห้องที่ซื้อไปให้โครงการบริหารจัดการในลักษณะโรงแรม อีกร่วม 10 รวมห้องพักกว่า 2,893 ห้อง

รวมถึงโครงการอสังหาเพื่อการลงทุน ที่เปิดเป็นทางเลือกให้ผู้ซื้อห้อง สามารถนำมาปล่อยเช่าให้โครงการบริหารจัดการในลักษณะโรงแรมอีก 10 แห่ง รวมห้องพักกว่า 3,499 แห่ง หากรวมทั้งหมดแล้วภูเก็ตจะมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นมากถึง 38 โรงแรม รวมห้องพักกว่า 14,357 ห้อง

การลงทุนโรงแรมที่อยู่ในไปป์ไลน์เหล่านี้ ที่ผ่านมาอาจจะชะงักไปจากผลกระทบของโควิด แต่เมื่อ ตลาดนักท่องเที่ยวกลับมา และผู้ ประกอบการมีทุน หรือกลับมาระดมทุนได้โครงการเหล่านี้ ก็คงจะกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง

แม้จะมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เป็นบวก แต่จากรายงานฉบับบี้ยังได้เผยข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของภูเก็ตที่สวนทางกลับการเติบโตของเมือง การเติบโตของจำนวนประชากร การพัฒนาที่แพร่กระจายไปยังพื้นที่ภายใน และความต้องการด้านการท่องเที่ยวที่พุ่งสูงขึ้นได้สร้างปัญหาการจราจรขนาดใหญ่

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเมื่อดินถล่มปิดทางสัญจรที่สำคัญระหว่างแหล่งท่องเที่ยวป่าตองยอดนิยมกับถนนสายหลัก และความล่าช้าในการซ่อมแซมทำให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโนในการเข้าถึงโรงแรมชายฝั่งตะวันตกในช่วงฤดูท่องเที่ยว และแสดงให้เห็นว่าเครือข่ายการขนส่งของเกาะนั้นเปราะบางเพียงใด

"การขาดแผนแม่บทการท่องเที่ยวเฉพาะสำหรับเกาะนี้เป็นปัญหาสำคัญในระยะยาวที่ต้องแก้ไขอย่างมาก ด้วยเที่ยวบินของสนามบินและการไหลเวียนของผู้โดยสารทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สนามบินพังงาแห่งใหม่มีความสำคัญเพียงใด รวมถึงโครงการทางด่วนและอุโมงค์ป่าตองซึ่งเป็นเส้นชีวิตที่สำคัญสำหรับการเติบโตของเกาะในอนาคต เราได้ขยายตัวเมืองแล้ว และเรามีห้องพักโรงแรมที่ลงทะเบียนแล้วเกือบ 100,000 ห้องบนเกาะ เรามาไกลเกินกว่าจะกลับไปแล้ว” บิล บาร์เน็ต กล่าวทิ้งท้าย