ทำความรู้จัก BBIBP-CorV วัคซีนต้านโควิดจากซิโนฟาร์ม

27 พ.ค. 2564 | 05:48 น.

การประกาศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่ามีแนวทางจะนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” (Sinopharm) มาเพื่อใช้ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในวันศุกร์ที่ 28 พ.ค.นี้ ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจอยากทำความรู้จักกับวัคซีนทางเลือกของบริษัท ซิโนฟาร์ม กันอีกครั้ง

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ ซิโนฟาร์ม มีชื่อว่า BBIBP-CorV เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccines) ซึ่งเป็นการผลิตวัคซีนจากบางส่วนหรือทั้งตัวของแบคทีเรียหรือไวรัสที่ตายแล้ว วัคซีนชนิดเชื้อตายนี้มีการใช้อย่างแพร่หลายในการสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรคติดเชื้อที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงโรคตับอักเสบ โปลิโอ และโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน

นอกจากนี้ ข้อดีอีกประการของวัคซีนชนิดเชื้อตายคือ เก็บรักษาและขนส่งได้ง่าย สามารถเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้นานหลายปี จึงเหมาะกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำหรือสถานที่ที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับอุปกรณ์จัดเก็บที่ต้องรักษาความเย็น

ทำความรู้จัก BBIBP-CorV วัคซีนต้านโควิดจากซิโนฟาร์ม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วัคซีน BBIBP-CorV ของ ซิโนฟาร์ม ซึ่งต้องฉีด 2 โดส ได้รับการอนุมัติใช้แล้วใน 42 ประเทศและดินแดนทั่วโลก โดยมีการใช้มากเป็นอันดับ 4 รองจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (166 ประเทศ) ไฟเซอร์-บิออนเทค (94) และโมเดอร์นา (46)

ล่าสุด JAMA (The Journal of the American Medical Association) สมาคมวารสารทางการแพทย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้เผยแพร่เนื้อหาบนเว็บไซต์ https://jamanetwork.com/ เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.) เกี่ยวกับผลการศึกษาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย (inactivated COVID vaccines) ซึ่งผลิตจากเชื้อไวรัสโควิดสองสายพันธุ์ ได้แก่ WIV04 และ HB02 ซึ่งสองตัวนี้ถูกใช้เป็นหลักในการผลิตวัคซีน BBIBP-CorV ของบริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ที่ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ให้การรับรองการใช้วัคซีนดังกล่าวในกรณีฉุกเฉินอย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. (7 พ.ค.)  

ข้อมูลที่เผยแพร่โดย JAMA ระบุว่าการประมวลและวิเคราะห์ใช้ข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกขั้นที่ 3 (เฟส 3) หลายแห่ง (multicenter RCT) รวมจำนวนอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ราว 40,382 คนจากประเทศบาห์เรน อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน ฯลฯ เปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอก (Alum only) ทั้งนี้ อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนจะได้รับวัคซีน 2 โดสโดยเว้นระยะฉีดห่างกัน 21 วัน

ผลการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยจากโควิด(symptomatic infection) อยู่ที่ 72.8% และ 78.1% สำหรับวัคซีนที่ผลิตจาก WIV04 และ HB02 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังป้องกันการป่วยหนักได้ 100% ทั้งคู่ และประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ (ทั้งมีและไม่มีอาการ) อยู่ที่ 64% และ 73.5% ตามลำดับ

จึงนับเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยจากโควิดในกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่

รอการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ถึงความคืบหน้าการพิจารณาอนุญาตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 4 ราย ได้แก่

  • วัคซีนแอสตราเซเนกา โดยบริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
  • วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม
  • วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด
  • วัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

ส่วนวัคซีนของซิโนฟาร์ม ซึ่งยื่นนำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด นั้นได้ยื่นเอกสารครบถ้วนต่อ อย.แล้วอยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียน

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ราย อยู่ระหว่างการทยอยยื่นเอกสารพร้อมประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง ได้แก่ วัคซีนโควัคซีน โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และวัคซีนสปุตนิค วี โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ทุกรายการที่มายื่นขอขึ้นทะเบียน อย. จะพิจารณาทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล โดย อย. มีความพร้อมในการพิจารณาอนุมัติวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้มีวัคซีนใช้โดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง