นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว ด้านเกษตรอินทรีย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในวันที่ 8 กันยายน นี้ จะมีประชุม นบข. คาดว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่จะนั่งเป็นประธานในที่ประชุม หรือไม่ ก็มอบรองนายกรัฐมนตรี (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรอง ประธาน นบข.) เป็นประธานในที่ประชุมเพื่อให้นโยบายขับเคลื่อนต่อ เพราะถ้ารอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปลายเดือนกันยายนนี้ก็ล่าช้าเกินไป คาดว่าไม่น่าจะเลื่อนเพราะมีกระบวนการอยู่แล้ว
ส่วนเงินช่วยเหลือชาวนา มี 2 โครงการ ผู้สื่อข่าวสอบถามต่อว่า ชาวนา จะได้เงินทั้ง 2 ก้อนหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ได้เงินก้อนเดียว ก็คือ ได้ในโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2565/66 หรือ “เงินช่วยเหลือชาวนา” ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือ 2 หมื่นบาท ตามมติ วันที่ 11 สิงหาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ได้เห็นชอบ ประกันรายได้ข้าวปี 4 พ่วงมาตรการคู่ขนาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 150,127.75 ล้านบาท
ส่วน โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป็นจำนวนเงิน 15,000 ล้านบาท ที่ผ่านกรมการข้าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นั้น ก็เป็นไปตามที่แผนที่กรมการข้าวเสนอของบประมาณไว้ แต่ถ้าไม่ทำตามแผนการที่แถลงไว้นั่นแหละจะติดคุก เพราะผ่านวาระ 2 และ 3 มาแล้ว นั่นหมายถึงผ่านงบประมาณมาแล้ว และไม่ซ้ำซ้อน ส่วนชาวนาจะมาเหมารวมว่าจะได้ทั้ง 2 ก้อนไม่ได้หรอก เพราะงบที่ผ่านกรมการข้าว เป็นงบลงทุน
แต่ถ้าจะซ้ำซ้อนให้มาแล้วยังมาบังคับ กรมการข้าว จะต้องจ่ายผ่าน ธ.ก.ส. เท่านั้น ก็ผิด กรมการข้าวก็ไม่สามารถทำได้เพราะผิดวัตถุประสงค์ในการของบประมาณ ก็อาจจะต้องขอคืนงบประมาณกลับไปสำนักงบประมาณได้ เพราะว่ากรมการข้าวไม่มีบัญชีของผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร แล้วให้จ่ายตามบัญชีของกรมส่งเสริมการเกษตร ถ้าอย่างนั้นก็ให้กรมส่งเสริมการเกษตรไปเลย เพราะหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่นเดียวกัน แล้วจะไปขอไร่ละ 1,000 บาท ได้อย่างไร
นายสุเทพ กล่าวว่า เชื่อว่า ในประชุม นบข. ทุกคนจะต้องพุ่งเป้ามาแน่นอน เพื่อให้ชี้แจง และย้ำมาว่าให้ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ใช่ประชุมซูมออนไลน์ และก็ต้องให้ชี้แจง ใน โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชะลอการขายข้าวในช่วงระยะเวลาที่ข้าวประดังกันออกสู่ตลาดจำนวนมาก เพื่อป้องกันข้าวเปลือกราคาตก หรือ “จำนำยุ้งฉาง” โดยจะมีเงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,500 บาทต่อรายต่อข้าว 1 ตัน ปรับเพิ่มจำนวน 2.5 ล้านตัน จากเดิม 2 ล้านตัน
โดยกำหนดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 8,600 บาท พร้อมช่วยเหลือค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท
ส่วนโครงการอื่นๆ อาทิ สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนรวบรวมข้าวเปลือกสำหรับการจำหน่ายหรือเพื่อการแปรรูป คงเดิม
นายสุเทพ กล่าวว่า จากการที่ตั้งงบประมาณชดเชยประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ใน โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 ซึ่งจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน ใช้เงินงบประมาณรวมกันทั้งสิ้น 86,740.31 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินน้อยลง ใช้ไม่ถึง สาเหตุเพราะราคาข้าวดี ยกตัวอย่าง ข้าวเปลือกหอมมะลิ ถ้าจะชดเชยน่าจะตันละ 1,000 บาท ส่วนข้าวหอมปทุมธานีก็ปลูกน้อยลง เช่นเดียวกับข้าวเหนียว ไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปเพิ่มมากขึ้น แม้กระทั่งข้าวเปลือกเจ้าราคายังยืนแข็ง ราคาข้าวสารก็ดี ดังนั้นโดยภาพรวมข้าวทุกชนิดราคาปรับขึ้น
“ในฐานะที่ปรึกษาข้าวอินทรีย์ ของอธิบดีกรมการข้าว ก็จะต้องชี้แจงในเรื่องข้าวอินทรีย์ล้านไร่ ด้วย ยังอยู่ไม่ได้หายไป ซึ่งปีนี้เราจะมีตัวเลขให้เห็น โดยแบ่งเป็นออร์แกรนิคส์ไทยแลนด์ รับรองโดยกรมการข้าว ประมาณ 6 แสนไร่ และส่วนที่ให้รับรองมาตรฐานสากลต้องจ้างบริษัทที่รับรองมาตรวจ ประมาณ ร่วม 3 แสนไร่ และในปีหน้าตั้งเป้า 1.5 แสนไร่ ใช้งบ 20 ล้านบาท จากการลงพื้นที่นอกจากจะดันเป้าอินทรีย์ล้านไร่แล้ว”
นายสุเทพ กล่าวว่า ยังได้อานิสงส์ข้าวอินทรีย์ทั่วไปที่จะยกระดับขึ้นมา โดยไม่ใช้เคมี 3 ปี ก็สามารถเข้าโครงการนี้ได้เข้ารับรองอินทรีย์ในมาตรฐานสากลได้ต่อไปในอนาคต แล้วราคาข้าวอินทรีย์ สูงกว่าราคาข้าวธรรมดาทั่วไปถึง 2,000 บาท/ตัน ยิ่งทำให้ชาวนามีแรงจูงใจที่อยากลงมือทำ และต้นทุนน้อยมาก เป็นนาดำ
ส่วนข้าวอินทรีย์ ล้านไร่ จะจ่ายภายในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะเข้า ครม. ในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ วงเงิน 1,400 ล้านบาท โดยให้กรมการข้าว สมทบไป 48 ล้านบาท คือ มีวัตถุประสงค์ให้กรมการข้าว รับผิดชอบด้วย
อนึ่ง รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2560-2564 (1 ล้านไร่) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะมีเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ ปีที่ 1 เมื่อผ่านการประเมินจากกรมการข้าวตามหลักเกณฑ์ ได้รับการสนับสนุนเงิน 2,000 บาท ต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่/ราย ไม่เกิน 30,000 บาท/ราย กรอบวงเงินที่อนุมัติไป ประมาณ 9,696 ล้านบาท พื้นที่ที่ได้รับเงินอุดหนุนทั้ง 3 ระยะ คือ
T1 ( ระยะปรับเปลี่ยนปีที่1 ได้รับเงินอุดหนุนไร่ละ 2,000 บาท )
T2 ( ระยะปรับเปลี่ยนปีที่ 2ได้รับเงินอุดหนุน 3,000 บาท )
T3 (ระยะปรับเปลี่ยนปีที่3 หรือระยะอินทรีย์ได้รับเงินอุดหนุน 4,000 บาท )