“อัสสเดช คงสิริ” กับภารกิจฟื้นเชื่อมั่น ยกระดับตลาดทุนไทย 

02 พ.ย. 2567 | 03:44 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2567 | 03:44 น.

"อัสสเดช คงสิริ" ผู้จัดการ ตลท.คนใหม่ กางแผนพัฒนาตลาดทุนไทย เน้นสื่อสารให้เร็วขึ้น เพื่อความเข้าใจของนักลงทุน มุ่งเพิ่มมูลค่าบจ.ให้เติบโตขึ้น จ่อหารือคลังเพิ่มสิทธิประโยชน์ภาษี พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงทุนเพิ่มขึ้น

KEY

POINTS

  • อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนที่ 14 จะ ปรับปรุงการสื่อสารระหว่างตลาดกับนักลงทุนให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  • มีแผนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึง AI มาใช้ในการกำกับดูแลและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น
  • ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อขอสนับสนุนด้านภาษี ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถนำเงินไปลงทุนในธุรกิจของตนได้มากขึ้น

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุไม่คาดฝันกับบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทยหลายครั้ง จนกระทบต่อความเชื่อมั่นและการระดมทุนของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นฉาวอย่าง “มอร์ รีเทิร์น” หรือ MORE ที่โดนข้อหาฉ้อโกง 11 โบรกเกอร์ “สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น” หรือ STARK คดีใหญ่เรื่องการตกแต่งบัญชี หรือ การผิดนัดหุ้นกู้ของ “เจเคเอ็น โกลบอล” หรือ JKN จนทำให้ตลาดหุ้นกู้ปั่นป่วน 

“อัสสเดช คงสิริ” กับภารกิจฟื้นเชื่อมั่น ยกระดับตลาดทุนไทย 

ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องออกมาตรการยกระดับการกำกับดูแลการซื้อขาย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุน ที่ดำเนินการไปแล้วคือ กำกับดูแลการขายชอร์ตและโปรแกรมเทรดดิ้ง ซึ่งมีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 1 และเพิ่มมาตรการ Auction Matching, Dynamic Price Band และ Minimum Resting Time ตั้งแต่ 2 กันยายน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ยังปรับปรุงเกณฑ์บทระวางโทษปรับเป็นเงิน สำหรับโบรกเกอร์ให้สูงขึ้นด้วย 

 

การจัดบ้านและฟื้นความเชื่อมั่น จึงเป็นภารกิจใหญ่ของ “อัสสเดช คงสิริ” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนที่ 14ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 และจะมีการแถลงแผนยุทธศาสตร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2568-2570) อย่างเป็นทางการได้วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

 
 “หลังเข้ามาเรียนรู้งาน ทำให้เห็นว่า ปัญหาหนึ่งคือ การสื่อสาร ดังนั้นสิ่งแรกที่จะทำคือ พัฒนาการสื่อสารและการ Take action ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้รวดเร็วมากขึ้น"

ทั้งนี้ เพราะในบางเรื่องไม่ใช่อำนาจของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน่วยงานเกี่ยวข้องเยอะ แต่ด้วยการสื่อสารให้ทุกคนรับทราบว่า เราเองก็รู้เรื่องแล้ว และไม่ได้นิ่งนอนใจ อาจจะช่วยสร้างความเข้าใจกับประชาชนและนักลงทุนได้อย่างรวดเร็วและรับทราบอย่างเท่าเทียมกัน (Fair Disclosure)

สิ่งที่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯคนก่อนฝากไว้คือ อยากให้เดินหน้าพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี ทั้งนำมาใช้ในการทำให้การสื่อสารของตลาดหลักทรัพย์สามารถสื่อไปถึงผู้ลงทุนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น การจัดการข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ดูง่ายขึ้น ให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้สะดวกยิ่งขึ้น ให้มีองค์ประกอบที่หน่วยงานอื่นๆ สามารถนำไปใช้และเห็นภาพได้อย่างครบถ้วน 

ดึง AI มาจัดการฐานข้อมูลให้ง่ายขึ้น

เทคโนโลยียังสามารถนำมาใช้ในงานกำกับดูแลด้วยเหมือนกัน  เพราะมีข้อมูลเยอะมากที่ต้องมาวิเคราะห์ เพื่อดูถึงพฤติกรรมต่างๆ เป็นอย่างไร อีกทั้งยังมีหุ้นใหม่ๆ เข้ามาระดมทุนเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ข้อมูลที่จะต้องวิเคราะห์และสังเกตก็มีเพิ่มมากขึ้น  AI จะทำให้คำนวณได้เร็วขึ้นมาก มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น 

ดังนั้น จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ให้ก่อเกิดประโยชน์ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว AI จะช่วยให้คนเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้นไหมตลาดมีบทบาทในการลงทุนแพลตฟอร์มการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กระตุ้นให้คนมีโอกาสในการเข้ามาลงทุนที่มากขึ้น

ยกตัวอย่าง DR ที่ผลักดันค่อนข้างเยอะในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันมี 16 กว่าตัว ที่สามารถนำหุ้นต่างประเทศมาให้นักลงทุนไทยเข้าถึงได้

นอกจากนั้น สิ่งที่เห็นคือ หุ้นบจ. ในตลาดเกือบ 50% ที่ซื้อขายอยู่ที่ Price to Book Ratio (P/B Ratio) ต่ำกว่า 1 ซึ่งต้องกลับมาดูว่า มีอะไรที่จะทำให้นักลงทุนสนใจได้ เพราะยังมีหลายบจ. ที่ระวังตัวค่อนข้างมาก เก็บเงินสดไว้กับตัว นำเงินสดนั้นไปเพิ่ม ROE ได้หรือไม่ทำอย่างไร จะกระตุ้นให้ เขาคิดนอกกรอบปัจจุบัน คิดแผนใหม่ๆ ยังไง มีอะไรที่จะจูงใจที่ตลาดฯ สามารถเสนอเองได้บ้าง 

ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า บจ. ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai โตขึ้นแล้วย้ายมาอยู่ใน SET น่าจะเกิน 50 บจ. นัั่นแปลว่า มีบริษัทที่เติบโตและข้ามไปอยู่ในกระดานใหญ่ได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่เสนอให้บจ. อื่นๆ จะพัฒนาตามได้ไหม 

เดินหน้าเพิ่มมูลค่าบจ.ไทยให้เติบโตขึ้น

อีกสิ่งที่จะทำคือ จะเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น ทั้งการเพิ่มในส่วนของ ROE และ ROA การทำให้งบการเงินของบริษัทจดทะเบียนมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อทำให้บริษัทจดทะเบียนเติบโตได้อย่างยั่งยืน และให้ผลตอบแทนกับผู้ลงทุนที่ดี

โดยจะส่งเสริมบจ. ที่มีแผนที่ดีในการสร้างการเติบโต จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้บจ. เหล่านั้นได้หรือไม่ จะเข้าไปคุยกับทางองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอสนับสนุนด้านภาษี 

ทั้งนี้หากบจ.ไม่มีแผนพัฒนาตนเองให้ก้าวกระโดดขึ้นไป รัฐเองก็จะไม่ได้ภาษีเพิ่มขึ้นจากรายได้และกำไรที่โตแบบก้าวกระโดดอยู่แล้ว จึงอาจจะขอให้รัฐช่วยลดในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นการส่งเสริมบจ. เหล่านี้ นำเงินมาลงทุนต่อยอดในธุรกิจตัวเองได้มากขึ้น

รัฐเองก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่ในระยะแรก อาจมีรายได้เข้ามาน้อยหน่อย แต่ในอนาคตอาจเก็บได้เต็มหน่วยมากขึ้น 

ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะเพิ่มเข้ามาจากเดิมที่มีการให้บริการ TFEX, Option, DR และ DRx ต่างๆ มองว่า ยังมีสินทรัพย์อื่นๆ ที่นักลงทุนไทยมีความสนใจ เช่น การทำ Option ของทองคำ ซึ่งผู้ลงทุนไทยให้ความสนใจในการลงทุนค่อนข้างมาก ทำให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่จะมีการศึกษานำมาพัฒนาในระยะต่อไป 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำร่วมกันคือ การเดินหน้าฟื้นความเชื่อมั่นในตลาดทุน ซึ่งแผนฟื้นความเชื่อมั่นที่ดีคือ ต้องไม่เกิดกรณีหุ้นปั่นหุ้นโกงการตกแต่งบัญชีนับจากนี้ในอีกหลายปีข้างหน้า หากไม่เกิดขึ้นอีกเชื่อว่า ความเชื่อมั่นจะกลับมา

ตอนนี้มองว่า เริ่มฟื้นมาเกือบ 100% แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่เกิดขึ้นหากดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีการสื่อสารหรือตอบสนองในทันทีย่อมดีกว่า 

สำหรับแผนระยะยาวที่กำลังคิดอยู่ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นศูนย์รวมการระดมทุนให้กับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไหนหรือจะมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมใด เพราะในเมืองไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศในทวีปที่เป็นศูนย์รวม สิ่งหนึ่งที่พยายามสนับสนุนเต็มที่ก็คือ “ไฟแนนซ์เชียลฮับ” ของกระทรวงการคลัง

 

หน้า 17  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,040 วันที่ 31 ต.ค. - 2 พ.ย. พ.ศ. 2567