ไทย-ภูฏาน ทวิภาคีเต็มคณะวันนี้ ดันท่องเที่ยว-วิชาการ-การแพทย์

25 มิ.ย. 2567 | 22:35 น.

ไทย-ภูฏาน หารือทวิภาคีเต็มคณะวันนี้ หลัง “ดาโช เชริง โตบเกย์” นายกรัฐมนตรีภูฏาน และภริยา เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล พร้อมผลักดันความร่วมมือท่องเที่ยว วิชาการ และการแพทย์

วันนี้ (26 มิถุนายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดาโช เชริง โตบเกย์ (H.E. Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน และภริยา เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) และมีกำหนดเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือข้อราชการแบบเต็มคณะ และมีพิธีการลงนามความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานและภริยา มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 25 – 28 มิถุนายน 2567 นี้ โดยเป็นการเยือนไทยครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม 2567 และเป็นการเยือนไทยในรอบ 11 ปี ของระดับนายกรัฐมนตรีภูฏาน 

ทั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในวาระครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมด้วยการกระชับความร่วมมือในแต่ละด้านที่มีศักยภาพร่วมกัน 

สำหรับกำหนดการสำคัญในวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น. นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานและภรรยา เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล ร่วมพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ การหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี (Four Eyes) การหารือข้อราชการแบบเต็มคณะ เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างไทยกับภูฏานในทุกด้าน 

หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายจะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างไทยและภูฏาน จำนวน 2 ฉบับ ในด้านความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการแพทย์ และการแถลงข่าวร่วม 

ภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ราชอาณาจักรภูฏานและภริยา ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับประเทศไทยยังถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่นายกฯภูฏาน มีกำหนดการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ และเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากอินเดีย ซึ่งสะท้อนถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้น จึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งในการกระชับความร่วมมือผ่านการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นประสบการณ์มีศักยภาพร่วมกัน เช่น การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนา สาธารณสุข การศึกษาและการเกษตร และการส่งเสริมความร่วมมือในระดับประชาชนด้วย