เจาะแผน“ESR” ทุ่ม3.3หมื่นล้าน ลุยLogistics Warehouse สีเขียว

21 ต.ค. 2567 | 21:49 น.

เจาะแผน“ESR”ทุ่ม3.3หมื่นล้าน ลุยLogistics Warehouse สีเขียว5 ปี หรือคิดเป็นเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.3 หมื่นล้านบาท(คำนวณที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ตั้งเป้าขยายการดำเนินงานไปยังหัวเมืองในภูมิภาค ในประเทศไทย ขอนแก่น เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี

 

การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจาก 6 เดือนแรก ปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริม การลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในภาคตะวันออก สูงถึง 625โครงการ มูลค่า 211,569 ล้านบาท จากภาพรวม  1,412 โครงการ เงินลงทุน 458,359 ล้านบาท

สยาม ทองกระบิล

ส่งผลดีต่อธุรกิจโลจิสติกส์ โกดังคลังสินค้า นิคมอุตสาหกรรมที่เปิดพื้นที่รองรับ ในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ อีเอสอาร์ กรุ๊ป หรือ ESR หนึ่งในบริษัทบริหารจัดการการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกเข้าปักหมุดโครงการอีเอสอาร์ เอเชีย แหลมฉบัง  หนึ่งในสี่โครงการภายใต้ อีเอสอาร์ ประเทศไทย

ตอกยํ้าเป้าหมายในการนำเสนอ “โซลูชันด้านพื้นที่และการลงทุนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” และเสริมศักยภาพ ประเทศไทยโดยไม่จำกัดเพียงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังรวมถึงการผสานแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน เทคโนโลยีขั้นสูงสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับธุรกิจ ชุมชน และนักลงทุน

 

นายสยาม ทองกระบิล ผู้บริหารสูงสุดประเทศไทย ของ ESR   ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าประเทศไทยถือเป็นตลาดยุทธศาสตร์สำคัญของอีเอสอาร์ มีจุดเด่นด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มีแรงงานฝีมือ มีความพร้อมทางสาธารณูปโภคพื้นฐานและการสนับสนุนจากภาครัฐโครงการอีเอสอาร์ เอเชีย แหลมฉบัง  

ตั้งอยู่บนถนนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7  ซึ่งเชื่อมต่อกรุงเทพฯ และจังหวัดในอีอีซี  ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นท่าเรือนํ้าลึกหลักของประเทศไทย  บนพื้นที่ขนาด 345,468 ตารางเมตรและมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี 2568 คาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 1,200 ตำแหน่ง โดยออกแบบคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก

ขณะแผนลงทุนใน 3 ปี 5ปี ของ ESR มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ดำเนินธุรกิจไปสู่ New economy และสอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า

ESR ในอีอีซี

โดยบริษัทตั้งเป้าขยายธุรกิจการบริการจัดการสินทรัพย์ทั้งทางด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมในประเทศไทย ให้ได้เป็น 2 ล้าน ตารางเมตร ภายใน 5 ปี หรือคิดเป็นเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.3 หมื่นล้านบาท(คำนวณที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)  และตั้งเป้าจะขยายการดำเนินงานไปยังหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี

ส่วนศักยภาพพื้นที่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐล่าช้า เช่น รถไฟความเร็วสูง -เมืองการบิน นายสยามมองว่า  ความจริงแล้วปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภาสามารถให้บริการ Air Freight ได้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้เปิดบริการ Commercial Flight เท่านั้น ส่วนเรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆของรัฐบาล อย่างการสร้างรถไฟความเร็วสูงที่ล่าช้า ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มลูกค้ามากนัก

ทางด้านการแข่งขัน ต้องยอมรับว่า ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะการแข่งขันกับบริษัท Local ด้วยอานิสงส์ของการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลากหลายบริษัทหันมาทำธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์

โดยเฉพาะ Logistics Warehouse เพื่อสนับสนุนความต้องการจากธุรกิจ E-commerce ตามมาด้วยธุรกิจ Industrial Estate ที่ช่วยให้มีรายได้ที่มีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับการทำธุรกิจ Commercial Estate 

อย่างไรก็ตาม ESR ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเป็นอันดับแรก โดยมองว่าตลาดมีแนวโน้มความต้องการในเรื่อง การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนมากขึ้นรวมถึงการพัฒนาและดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสังคมจะเป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจใหม่ของสังคม

และแม้ว่าธุรกิจบริหารจัดการอสังหา ริมทรัพย์จะไม่ใช่ New economy business แต่บริษัทเป็นธุรกิจพื้นฐานที่มีความรู้พร้อมช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจใหม่ๆ สามารถดำเนินงานเพื่อสอดรับกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น บริษัทสามารถก่อสร้างอาคารและวางระบบตามมาตรฐาน REIT Certification ให้แก่ลูกค้าได้ตามที่ต้องการ   

ส่วนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ  มองว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นที่สนใจของนักลงทุนส่วนมาก เพราะมักจะเป็นสิ่งแรกที่นักลงทุนถามถึง ทั้งในเรื่อง inventive ที่โดดเด่นและแตกต่างกับสิทธิประโยชน์จาก BOI และเงื่อนไขการทำธุรกิจ

รวมไปถึงขั้นตอนการยื่นขออนุญาตและการดำเนินเอกสารต่าง ๆซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษส่วนมากจะมีบริการ one-stop service ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนได้อย่างมาก

 ขณะหลักคิดในการทำธุรกิจในไทยและการให้ความสำคัญกับคน ESR เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายในระดับภูมิภาค มีการลงทุนและทำงานในหลากหลายประเทศ โดยยึดมั่นในกลยุทธ์การทำงานแบบ Global thinking ควบคู่ไปกับ Local Knowledge

โดยมีทีมงานที่เป็นคนในประเทศที่มีประสบการณ์ความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดี และสามารถปรับใช้ความรู้จากตัวอย่างหรือประสบการณ์ด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ จาก ESR ในประเทศอื่น ๆ ได้ และด้วยบริษัททำงานอยู่ในหลากหลายประเทศทำให้มีเครือข่ายลูกค้าที่เข้มแข็งในหลากหลายอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งให้ความสำคัญด้านการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ซึ่งรวมไปถึงให้ความสำคัญกับเรื่อง Human centric ความหลากหลายและเท่าเทียมกัน

โดยปัจจุบัน ESR มีพนักงานผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนทั้งหมดกว่า 41% พร้อมสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยให้กับทุกคน ทั้งผู้คนในที่ทำงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนักลงทุนที่จะมาร่วมงานกับบริษัท

 สำหรับมุมมองต่อค่าบาทแข็ง-สงครามตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับค่าแรง ในประเทศไทย มองว่า ประเด็นเหล่านี้ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจต่างชาติอย่างแน่นอน โดยเฉพาะที่ปัจจุบันที่ค่าเงินไทยแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลให้บางบริษัทชะลอการตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย

เช่นเดียวกันกับเรื่องค่าแรงที่กำลังจะสูงขึ้นก็ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันประเทศคู่แข่งของไทยอย่าง เวียดนาม ก็ยังมีอัตราค่าจ้างแรงงานที่ตํ่ากว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประเทศไทยยังคงได้เปรียบคือ การที่เรามี Human resource ที่เป็น Mid-level engineering มากกว่า

เพราะบริษัทที่เป็นธุรกิจ New economy ต้องการ skilled labor เป็นอย่างมาก เช่น ล่าสุดทราบมาว่าบริษัท Intel ที่ได้ลงทุนจัดตั้งโรงงานในประเทศเวียดนาม ก็ได้ประกาศย้ายฐานการผลิตออกจากเวียดนามแล้ว เนื่องจากไม่สามารถจัดหา Mid-level engineering labor มาทำงานได้เพียงพอส่งผลต่อกำลังการผลิตของบริษัท

 

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,036 วันที่ 17 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2567