กต.ถก METI เพิ่มความร่วมมือด้านพลังงาน ยานยนต์แห่งอนาคต ลดการปล่อยคาร์บอน

18 ธ.ค. 2566 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2566 | 07:34 น.

“ปานปรีย์” หารือรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) คนใหม่ ในกรุงโตเกียววันนี้ (18 ธ.ค.) หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคต ครอบคลุมความร่วมมือด้านพลังงาน เชื้อเพลิงชีวภาพ ยานยนต์ EV-ไฮโดรเจน รวมทั้งเทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอน

 

วันนี้ (18 ธันวาคม 2566) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับนายไซโต เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) คนใหม่ ณ กรุงโตเกียว โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมและยานยนต์แห่งอนาคต (EV และไฮโดรเจน) ความร่วมมือด้านพลังงาน เชื้อเพลิงชีวภาพ การ ลดการปล่อยคาร์บอน

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และหวังให้นักลงทุนญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ และนวัตกรรมเชิงลึกมากขึ้น เพื่อให้ไทยสามารถต่อยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ พบหารือกับนายไซโต เคน รมว.กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ในกรุงโตเกียว 18 ธ.ค.66

ทั้งนี้ รัฐมนตรี METI ได้ฝากขอบคุณถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่สร้างความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นให้สามารถเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV)

กต.ถก METI เพิ่มความร่วมมือด้านพลังงาน ยานยนต์แห่งอนาคต ลดการปล่อยคาร์บอน

ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในเวที งานสัมมนา “Thailand – Japan Investment Forum” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย ประชาสัมพันธ์โอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนสำคัญอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจเข้าร่วมสัมมนากว่า 500 รายนั้น นายปานปรีย์ได้กล่าวให้ความมั่นใจกับนักลงทุนญี่ปุ่นว่า

ไทยพร้อมมีบทบาทเชิงรุกด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่แน่นแฟ้น เพื่อเดินหน้าในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยจะใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศหรือข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคี ในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับมิตรประเทศในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ไทยจะมุ่งมั่นพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุน เช่น การกำหนดเขตเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใหม่ใน 4 ภาคของประเทศไทย รวมทั้งการออก Long-term Resident Visa หรือ LTR Visa เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ ในการใช้ชีวิตและทำงานในประเทศไทยด้วย รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น ให้เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงดังกรอบแนวคิดของญี่ปุ่นเรื่อง ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ระหว่างกันที่เรียกว่า “การร่วมสร้างสรรค์” หรือ Co-Creation เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต และเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ

โดยในการสัมมนาดังกล่าว นายไซโต เค็น รัฐมนตรี METI กล่าวย้ำว่า ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนมาก จนเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ไทยสามารถก้าวสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ หลังจากนี้ไป ญี่ปุ่นและไทยจะร่วมมือเพื่อสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาสภาวะโลกร้อน ได้ประกาศยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ซึ่งในอนาคตการลงทุนในเรื่องนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของไทยในเรื่องสิ่งแวดล้อม และญี่ปุ่นเชื่อมั่นว่าไทยมีพลังงานสะอาดเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวต่อไป