ลอบสังหาร "ทรัมป์" บทเรียนความรุนเเรงและการเมืองสหรัฐแบ่งขั้ว

16 ก.ย. 2567 | 08:34 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 04:14 น.

การลอบสังหาร "โดนัลด์ ทรัมป์" เป็นบทเรียนความรุนเเรงเเละการเมืองเเบ่งขั้ว สะท้อนจากประวัติศาสตร์โศกนาฏกรรมการลอบสังหารผู้นำประเทศ ตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองจนถึงปัจจุบัน

เอฟบีไอ กำลังสืบสวนกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเป็นความพยายามลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ ที่สโมสรกอล์ฟของเขาในฟลอริดาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา “ทรัมป์ปลอดภัยดีและไม่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้” ทีมหาเสียงของเขากล่าว

ผู้ต้องสงสัยหลบหนีเข้าไปในรถ SUV และถูกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่จับกุมได้ในเวลาต่อมา

เอฟบีไอพบเป้สะพายหลัง 2 ใบในพุ่มไม้ มีปืนแบบ AK-47 พร้อมกล้องส่องทางไกล และกล้อง GoPro ซึ่งบ่งชี้ถึงแผนที่จะสังหารทรัมป์ในสนามกอล์ฟของตัวเอง และจะถ่ายวิดีโอให้คนทั้งโลกได้เห็น

ความพยายามลอบสังหารที่สนามกอล์ฟของทรัมป์ในฟลอริดาเกิดขึ้นภายในสองเดือน นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าตกตะลึงในปีการหาเสียง ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความหวาดกลัวต่อความรุนแรงและความไม่สงบทางการเมือง

หลังจากความพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีในการชุมนุมที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย กระสุนปืนได้พุ่งผ่านศีรษะของทรัมป์ เข้าที่หูและทำให้มีเลือดออก ก่อนที่หน่วยข่าวกรองจะควบคุมตัวเขาไปยังที่ปลอดภัย

ลอบสังหาร \"ทรัมป์\" บทเรียนความรุนเเรงและการเมืองสหรัฐแบ่งขั้ว

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้ฟังการปราศัยคนหนึ่งเสียชีวิตขณะปกป้องสมาชิกในครอบครัวจากการยิงปืน และอีกสองคนถูกยิง แต่รอดชีวิต ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยิงเสียชีวิต กระตุ้นให้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ตรวจสอบอย่างเข้มงวด

นั่นเป็นช่วงสองเดือนที่อเมริกาเกือบจะประสบกับโศกนาฏกรรมจากการเห็นบุคคลสำคัญทางการเมืองถูกลอบสังหารในช่วงฤดูการเลือกตั้งถึงสองครั้ง

ประวัติการวางแผน ลอบสังหาร ประธานาธิบดี

เหตุการณ์เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นความรุนแรง ความแตกแยกทางพรรคการเมืองที่แฝงอยู่ และปกคลุมการเมืองอเมริกันมาโดยตลอด และทวีขึ้นจากการที่หาอาวุธปืนได้ง่าย

ท่ามกลางความวุ่นวายก่อนถึงวันเลือกตั้งอาจทำให้ประเทศตกอยู่ในความมืดมนยิ่งขึ้น หลังจากที่ไม่มีความพยายามลอบสังหารเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงมาเป็นเวลาหลายสิบปี

เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทำงานหลังจากมีรายงานว่ามีการยิงปืนนอกสนามกอล์ฟ Trump International ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ตลอดประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ การเมืองและความรุนแรงมักเดินเคียงคู่กันมาโดยตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างเข้มข้นทวีความรุนแรง จนถึงขีดสุด รอยร้าวนี้กำลังกว้างขึ้นเรื่อย ๆ

อันตรายและความไม่มั่นคงกลายเป็นลักษณะเด่นของการเมืองสหรัฐฯ

การเดินขบวนของกลุ่มคนผิวขาวที่ถือเอาอำนาจเหนือกว่าในชาร์ลอตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย ส่งผลให้มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองเสียชีวิต ฝูงชนที่โกรธแค้นที่สนับสนุนทรัมป์บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021

การโจมตีด้วยค้อนที่บ้านพักของพอล สามีของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

การคุกคามด้วยความรุนแรงต่อสมาชิกรัฐสภาและผู้พิพากษา ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่เกิดขึ้น 

ลอบสังหารประธานาธิบดี

ตลอดประวัติศาสตร์ของสหรัฐ มีการวางแผนและความพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐมากมาย

กรณีแรก คือ ความพยายามลอบสังหาร แอนดรูว์ แจ็กสัน ที่ล้มเหลวในปี 1835 เพราะปืนของมือสังหารทั้งสองกระบอกลั่นพลาด เนื่องจากความชื้นในอากาศ จากนั้นแจ็กสันก็ใช้ไม้เท้าตีผู้กระทำความผิดจนยอมจำนน

ข่าวโด่งดังในเดือนตุลาคม 2018 ซึ่งมีการส่งระเบิด 16 ลูกทางไปรษณีย์ไปยังพรรคเดโมแครต (รวมถึงประธานาธิบดีโอบามาและคลินตัน)

ในขณะที่ผู้กระทำความผิดอีกคนส่งจดหมายที่ผสมไรซินไปยังประธานาธิบดีทรัมป์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพสหรัฐ

แผนการเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกเปิดโปงหรือป้องกันได้

อย่างไรก็ตาม แผนการบางส่วนเกือบจะบรรลุเป้าหมาย และ 4 กรณีนำไปสู่การลอบสังหารประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งสำเร็จ

การลอบสังหารประธานาธิบดีที่ประสบความสำเร็จ

ครั้งแรก เกิดขึ้นในปี 1865 คือ กรณีการสอบสังหาร อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 16

เมื่อผู้สนับสนุนและสายลับของสมาพันธรัฐวางแผนที่จะสังหารบุคคลระดับสูง 3 คนในสหภาพ เพื่อพยายามจุดชนวนสงครามกลางเมืองสหรัฐอีกครั้ง

จากเป้าหมายทั้ง 3 มีเพียง อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 16 เท่านั้นที่ถูกลอบสังหาร โดย จอห์น วิลค์ส บูธ ยิงที่ศีรษะ ลินคอล์นเสียชีวิตภายใน 12 ชั่วโมง

ครั้งที่สอง กรณีการลอบสังหาร เจมส์ การ์ฟิลด์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 20 หลังจากรักษาบาดแผลจากการถูกลอบยิงที่สถานีรถไฟในปี 1881 อีก 4 เดือนต่อมาจึงเสียชีวิต

ครั้งที่ 3 การลอบสังหาร วิลเลียม แมคคินลีย์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 25 ถูกยิงสองครั้งขณะพบปะกับประชาชนเพียง 6 เดือน หลังจากดำรงตำแหน่งวาระที่สอง

ความพยายามดังกล่าวแม้ไม่ได้ถึงแก่ชีวิตในทันที แต่เขาก็เสียชีวิตหนึ่งสัปดาห์หลังจากการโจมตี

ครั้งที่ 4 ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 4 ที่ถูกลอบสังหารคือ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 35 ซึ่งถูกยิงโดยลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ อดีตทหารนาวิกโยธินและทหารที่แปรพักตร์ไปเป็นสหภาพโซเวียต

ออสวอลด์ยิงเคนเนดีจากชั้นที่ 6 ของโกดังใกล้เคียงระหว่างขบวนรถสาธารณะในเมืองดัลลาส รัฐเท็กซัส เมื่อปี 2506 เคนเนดีเสียชีวิตในทันที

แม้ว่าการสืบสวนอย่างเป็นทางการ การทดสอบทางนิติเวช และคำบอกเล่าของพยานบุคคลจะยืนยันว่าออสวอลด์ลงมือเพียงลำพัง

แต่ทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมากก็เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ และประชากรจำนวนมากของสหรัฐฯ เชื่อว่าการลอบสังหารเป็นส่วนหนึ่งของแผนการหรือการปกปิดที่ใหญ่กว่า ซึ่งจัดทำโดยซีไอเอ มาเฟีย หรือหน่วยงานต่างชาติ รวมถึงทฤษฎีอื่นๆ

เหตุการณ์เฉียดฉิว

ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 1912 อดีตประธานาธิบดีธี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ถูกยิงที่หน้าอกก่อนที่จะกล่าวสุนทรพจน์

รูสเวลต์รู้ว่าอาการบาดเจ็บไม่ถึงแก่ชีวิต จึงกล่าวสุนทรพจน์ต่อไปเป็นเวลา 84 นาทีก่อนที่จะไปรับการรักษา

ในปี 1981 มือปืนยิง โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 40 จำนวน 6 นัด ขณะที่เขากำลังพบปะประชาชนนอกโรงแรมในวอชิงตัน ทำให้ประธานาธิบดีและอีก 3 คนได้รับบาดเจ็บจากการโจมตี

กระสุนนัดหนึ่งกระเด้งจากด้านข้างรถยนต์ทะลุปอดของประธานาธิบดี และทำให้เกิดเลือดออกภายในอย่างรุนแรง

ประธานาธิบดีเกือบเสียชีวิตระหว่างทางไปโรงพยาบาล แต่แพทย์สามารถช่วยให้อาการคงที่และนำกระสุนออกได้ เรแกนกลับเข้าทำเนียบขาวในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ต่อมา 

อีกเหตุการณ์เฉียดฉิว คือ เมื่อมือปืนยิงใส่รถยนต์ของประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 32 ในปี 1933 แม้จะพลาด แต่กลับสังหารนายกเทศมนตรีชิคาโก

ความพยายามลอบสังหารประธานาธิบดี  เจอรัลด์ ฟอร์ด ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 38 สองครั้งในแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนกันยายน 1975 คนแรกถูกหยุดไว้ก่อนที่จะสามารถยิงใส่ประธานาธิบดีได้ ในขณะที่คนที่สองถูกจับกุมหลังจากยิงสองนัด และทำให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์หนึ่งคนบาดเจ็บ ฟอร์ดไม่ได้รับบาดเจ็บในการโจมตีทั้งสองครั้ง 

ความพยายามลอบสังหารครั้งเดียวที่ไม่ได้ใช้อาวุธปืน คือ กรณีการขว้างระเบิดขึ้นบนเวทีขณะที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช  ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 43 หลังมีผู้โยนระเบิดมือเข้าใส่ ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ ในปี 2005 ขณะเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมกับประธานาธิบดีจอร์เจีย มิคาอิล ซาคาชวิลี ที่กรุงทบิลิซิ ในปี ค.ศ. 2005 

แม้ว่าจะมีการดึงสลักนิรภัยออกแล้ว แต่ผ้าเช็ดหน้าที่ใช้ซ่อนระเบิดถูกพันรอบระเบิดแน่นเกินไปทำให้คันโยกไม่หลุดออก

ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บในความพยายามครั้งนี้ แต่ผู้ก่อเหตุได้สังหารเจ้าหน้าที่หนึ่งนายขณะถูกจับกุมสองเดือนต่อมา

บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 44 ถูกชายคนหนึ่งยิงปืนใส่ทำเนียบขาวหลายนัดในปี 2011 กระสุนถูกอาคารใกล้จุดที่เขาและครอบครัวพักอาศัย ต่อมามีรายงานว่า ชายที่ยิงปืนใส่ทำเนียบขาว มาจากรัฐไอดาโฮถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่า

ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรง ความแตกแยกทางการเมืองที่แฝงอยู่ ผ่านประวัติศาสตร์โศกนาฏกรรมการลอบสังหารผู้นำประเทศ ตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองจนถึงปัจจุบัน