รางวัลของคนชอบสะบัดคอ

26 ต.ค. 2567 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2567 | 01:23 น.

รางวัลของคนชอบสะบัดคอ คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

KEY

POINTS

  • โรคกระดูกคอเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกและข้อต่อบริเวณคอ ซึ่งมักเกิดในผู้สูงวัย และมีสาเหตุจากการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งทำงานนานๆ หรือการใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ
  • การป้องกันและรักษาโรค สามารถทำได้โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสม การปรับท่าทางการนั่งทำงานให้ถูกต้อง และการพบแพทย์หากมีอาการปวดหรือชาที่คอ การรักษาอาจรวมถึงการใช้ยาแก้ปวด การทำกายภาพบำบัด และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อบรรเทาอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย

หลายวันก่อน ผมเห็นหลานชายคนหนึ่ง สะบัดคอตนเองเสียงดังกร๊อบๆ เห็นแล้วน่าตกใจ ต้องรีบบอกหลานชายไปว่า “อย่าสะบัดคอ เพราะเดี๋ยวแก่ตัวแล้วจะลำบากนะ เพราะอาจจะนำพาเอาโรคคอกระดูกเสื่อมมาเป็นตอนแก่ได้ เป็นเด็กเป็นเล็ก ต้องรู้จักระมัดระวัง อย่าเอาแต่สะใจตนเองเท่านั้น” เจ้าหลานชายผมเขาก็หัวเราะร่าเลยครับ เข้าใจได้ว่า เขาอาจจะไม่เชื่อคนแก่อย่างผมก็เป็นได้ครับ

ต้องบอกว่าในปัจจุบันนี้ ไทยเราได้อยู่ในยุคที่ประชากรผู้สูงวัย มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพในกลุ่มผู้สูงวัย กลายเป็นประเด็นที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของกระดูกและข้อต่อบริเวณคอ ซึ่งมักเกิดในผู้สูงวัย อันเนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันและการเสื่อมสภาพตามวัยครับ

ความหมายของโรคกระดูกคอเสื่อม หมายถึงการเสื่อมสภาพของกระดูกและข้อต่อในบริเวณคอ โดยเฉพาะหมอนรองกระดูกในช่วงกระดูกสันหลังส่วนคอ สาเหตุหลักของโรคนี้ มาจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของร่างกาย พวกเราเหล่าชาวผมขาวทั้งหลายแหล่ เมื่อมีอายุมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคคอกระดูกเสื่อมกันทุกคน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น เกิดจากการบาดเจ็บที่คอ ที่เกิดจากการทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่นการนั่งทำงานนานๆ โดยไม่มีการผ่อนคลายอิริยาบถ หรือการใช้คอมพิวเตอร์และการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ

อาการที่พบบ่อยของโรคกระดูกคอเสื่อม มีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยอาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ อาการปวดบริเวณคอ อาการปวดอาจเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมากๆ บางครั้งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับความตึงเครียดบริเวณกล้ามเนื้อรอบๆ หรือมีอาการคอแข็ง หรือเส้นเอ็นบริเวณต้นคอ ความรู้สึกตึงหรือขัดที่คอ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวคอได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นอาการที่น่ารำคาญมากๆ ตัวผมเองก็มีอาการนี้เป็นประจำ จนต้องไปใช้บริการของหมอนวด ที่นวดให้ผมเกือบทุกอาทิตย์ ถ้าอาทิตย์ไหนต้องเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องเก็บสแปร์ไว้ก่อนเสมอครับ

อีกอาการหนึ่ง คืออาการชาบริเวณต้นคอ ผู้สูงวัยบางคนอาจจะมีความรู้สึกชา อ่อนแรง หรือรู้สึกเหมือนมีไฟฟ้าช็อตที่แขนหรือมือเป็นประจำ ซึ่งเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ บางคนถึงกับยกแขนไม่ขึ้นเลยก็มี อีกอาการหนึ่ง คืออาการเวียนศีรษะ เพราะบางครั้งการเสื่อมของกระดูก อาจส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้รู้สึกเวียนศีรษะนั่นเอง หรือบางคนอาจจะมีอาการง่วงนอนเป็นประจำเสมอครับ

หากพวกเราที่เป็นผู้สูงวัยมีอาการดังที่กล่าวมานี้ เราควรต้องเข้าโรงพยาบาลไปพบแพทย์ได้แล้วครับ ซึ่งแพทย์ทางด้านกระดูกหรือแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedics) จะเป็นผู้วินิจฉัยโรคกระดูกคอเสื่อมโดยตรง ผมเองก็ใช้วิธีดังกล่าวเช่นกัน เพราะผมมีน้องรักท่านหนึ่ง ที่เป็นแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ซึ่งท่านก็บอกผมว่า การนวดเป็นเพียงการแก้ไขอาการขั้นต้นเท่านั้น ถ้าจะให้ถูกวิธีหรือได้ผลอย่างจริงจัง ควรจะไปพบแพทย์แผนปัจจุบันนี่แหละ ส่วนใหญ่แพทย์ท่านมักจะเริ่มจากการซักประวัติผู้ป่วยก่อน โดยจะสอบถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น รวมถึงประวัติการบาดเจ็บหรือการทำงานที่อาจส่งผลต่อคอ หลังจากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือความเคลื่อนไหวของคอ ในบางกรณีอาจมีการใช้การถ่ายภาพรังสีหรือ MRI เพื่อดูความเสื่อมสภาพของกระดูกและหมอนรองกระดูก จากนั้นจึงจะเริ่มทำการรักษา

การรักษาโรคกระดูกคอเสื่อมมีหลายวิธี เช่น การใช้ยา โดยใช้ยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้ หรือการทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ คอ และช่วยในการปรับท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ซึ่งก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน

หากจะถามว่าโรคดังกล่าวสามารถป้องกันโรคก่อนที่จะเป็นได้หรือไม่? ต้องตอบว่า ก็อาจจะได้นะ แต่ก็ไม่ใช่ได้ทั้งหมด เพียงแต่พอบรรเทาไม่ให้เกิดอาการรุนแรงได้บ้างเท่านั้น สามารถทำได้โดยใช้การออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การว่ายน้ำหรือการเล่นโยคะ ก็สามารถช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อได้ อีกประการหนึ่ง คือการปรับท่าทางของร่างกาย ใช้เก้าอี้ที่มีการสนับสนุนที่ดี และปรับความสูงของโต๊ะทำงาน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเรา เพื่อเป็นการลดความตึงเครียดที่คอ อีกอย่างที่ช่วยได้ คือการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กดทับคอ และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการเคลื่อนไหวที่อาจทำให้คอได้รับบาดเจ็บ

โรคกระดูกคอเสื่อมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นการป้องกันและการรักษาอย่างเหมาะสม สามารถช่วยให้ผู้สูงวัยมีชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคกระดูกคอเสื่อมและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา ที่สำคัญต้องระลึกไว้เสมอว่า เราไม่ได้อายุน้อยๆแล้วนะ ใกล้ฝั่งเต็มทีแล้ว อย่าได้คิดว่ายังเป็นหนุ่มน้อยอยู่นะครับ จะทำอะไรก็ขอให้ช้าลงสักหนึ่งก้าวดีกว่าที่จะต้องนอนติดเตียงนะครับ .....เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือน!!!!