วันนี้ (2 กรกฎาคม 2567) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) โดยต้องจับตา สำนักงบประมาณ เตรียมเสนอวาระเกี่ยวกับ ข้อเสนอการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแหล่งเงินสำหรับ โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล
โดยการนำข้อเสนอการจัดทำ ร่างกฎหมายสำคัญเพื่อใช้เป็นแหล่งเงินแรกของการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่ง สำนักงบประมาณ ได้มีการยกร่างกฎหมายขึ้น หลังจากได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียมาเสร็จสิ้นแล้ว
ขั้นตอนจากนี้ สำนักงบประมาณได้จัดข้อเสนอเข้ามาเพื่อเสนอต่อครม. เพื่อรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และให้สำนักงบประมาณ จัดพิมพ์ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเอกสารประกอบงบประมาณ มาเสนอครม.ต่อไป
สำหรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีกรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาท มีโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ดังนี้
ทั้งนี้ภายใต้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาทนั้น เมื่อรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จํานวน 3,480,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จํานวน 417,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.1%
อย่างไรก็ตามในการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นั้น ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศชัดเจนระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ถึงความคืบหน้าโครงการเติมดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่า ปลายปีนี้ทุกคนจะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทแน่นอน
ส่วนแหล่งวงเงินสำคัญนั้น ที่ผ่านมาครม.ได้เห็นชอบแหล่งวงเงินไปแล้วอย่างน้อย 2 แหล่ง นั่นคือ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท และล่าสุดคือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อีกจำนวน 122,000 ล้านบาท รวมทั้งยังเตรียมบริหารจัดการงบประมาณ 2567 เพิ่มเติมเข้าไปด้วย
ขณะที่การใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้น ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน