ตะลึง! จีนพัฒนาข้าวกว่า 1.3 หมื่นสายพันธุ์ จากไม่พอกิน จนมีเหลือส่งออก

22 ต.ค. 2567 | 21:18 น.

ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แนะทุกภาคส่วนดูการพัฒนา “ข้าว” ของจีน จากอดีตที่เคยอดอยาก สู่การพัฒนาเพียงพอหล่อเลี้ยงคนในประเทศ มีเหลือส่งออก เผยเวลานี้จีนมีข้าวกว่า 1.3 หมื่นสายพันธุ์ ผลผลิตสูงสุดกว่า 2 ตันต่อไร่ ลุยข้าวนุ่มและหอม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

ใครจะรู้บ้างว่า จีนประเทศที่ผลิตข้าวมากที่สุดในโลกในปัจจุบัน ในอดีตที่มีประชากรประมาณ 500 ล้านคนในช่วงปี 2592 ในจำนวนนี้หลายสิบล้านคนต้องอดตาย แต่ปัจจุบันจีนซึ่งมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และยังมีเหลือส่งออก ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับหนึ่งของโลก แต่ละปีผลิตข้าวได้มากกว่า 200 ล้านตันข้าวเปลือก (สัดส่วน 30% ของผลผลิตข้าวโลก)

ใช้บริโภคในประเทศ (ข้าวสาร)มากกว่า 140 ล้านตัน ส่งออกปีละ 2.6 ล้านตัน โดยจีนส่งออกข้าวขาวไปฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ส่วนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา นำเข้าข้าวออร์แกนิคจากจีนปีละ 3 ล้านตัน (ผ่านโควตานำเข้าปีละ 5.3 ล้านตัน)

ข้าวจีน มาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วงต้นของการสถาปนาประเทศเมื่อปี 1949 (2592) คนจีนหลายสิบล้านคนอดตาย เพราะการผลิตข้าวแบบรวมศูนย์ ทำให้ผลผลิตตํ่า ไม่พอกิน (ตํ่ากว่า 500 กก./ไร่) ขณะนั้นประชากรจีน 500 ล้านคน ในปี 1964 (2507) “หยวน ลองผิง” นักวิชาการเกษตร ที่ต่อมาถูกขนานนามว่า เป็น “บิดาพันธุ์ข้าวลูกผสม (Hybrid Rice)” ได้ใช้เวลา 9 ปี ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมแรก ชื่อว่า “Nanyou2” ได้ผลผลิตต่อไร่มากกว่า 2 ตัน (2,000 กก.) หลังจากนั้นก็พัฒนาพันธุ์ลูกผสมอย่างต่อเนื่อง

ตะลึง! จีนพัฒนาข้าวกว่า 1.3 หมื่นสายพันธุ์ จากไม่พอกิน จนมีเหลือส่งออก

ทั้งนี้ได้นำจุดเด่นข้าวพันธุ์พื้นเมืองมาสร้างพันธุ์ใหม่ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ร้อยละ 80 เป็นข้าวลูกผสม (ผลผลิตสูง ทนโรค ทนสภาพอากาศ ทนเค็ม) ที่เหลือเป็นข้าวอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยมณฑลเฮย์หลงเจียง ถือเป็นเมืองหลวงข้าวของจีน ผลิตข้าวมากที่สุดของประเทศประมาณ 35 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี (17% ผลผลิตข้าวจีน) เฮย์หลงเจียงเป็นมณฑลอากาศหนาว ฤดูหนาวอุณหภูมิ -10 ถึง -30 องศา แต่ข้าวเฮย์หลงเจียงปลูกในช่วงฤดูร้อน (เม.ย.-ต.ค.) อุณหภูมิ 20-25 องศา

เหตุผลที่ทำให้เฮย์หลงเจียงปลูกข้าวมากสุดทั้งที่อากาศหนาว เพราะมีฤดูร้อนยาว ดินดำ (ดินที่ดีที่สุดในโลก มีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน 120 ล้านไร่) นํ้าเพียงพอทั้งธรรมชาติ (4 แม่นํ้า) และชลประทาน (จีนมีพื้นที่ชลประทานมากสุดของโลก) และมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนอุณหภูมิที่ลดลงในเวลากลางคืน (10-15 องศา)

ปัจจุบัน ข้าวที่ปลูกในจีนมี 3 แบบ ได้แก่ ข้าวที่ปลูกในมณฑลที่มีอากาศหนาว เช่น เฮย์หลงเจียง (ติดรัสเซีย) เหลียวหนิง และจี้หลิน (ทั้ง 2 มณฑลติดเกาหลีเหนือ) ข้าวที่ปลูกในมณฑลอากาศร้อน และ ข้าวปลูกในนํ้าเค็ม เช่น ปลูกข้าวนํ้าเค็มในเมืองตงอิ๋ง มณฑลซานตง และเมืองหนิงโบ (Ninbo) ในมณฑลเจ้อเจียง ได้ผลผลิต 1,500-1,800 กก./ไร่

ปี 2564 จีนมีพันธุ์ข้าวทั้งหมด 13,000 สายพันธุ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีเพียง 3,000 สายพันธุ์ (สถาบันวิจัยข้าวแห่งชาติ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพสูง (ไทยมีสายพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์จำนวน 132 ชนิด) ข้าวพันธุ์ใหม่ที่จีนผลิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด คือ ข้าวนุ่มและหอม ชื่อว่า “Wu Chang” หรือ “Dao Hua Xiang” ซึ่งข้าวชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในตลาดจีน โดยจีนมีความต้องการประมาณปีละ 8 ล้านตัน

 “ข้อมูลจากหลายแหล่งอ้างอิงว่า จีนสามารถผลิตข้าวนุ่มได้ปีละ 60 ล้านตันข้าวเปลือก ร้อยละ 40 ผลิตในเฮย์หลงเจียง ทั้งนี้ผลผลิตข้าวจีนเพิ่มขึ้นทุกปี และยังตั้งเป้าส่งออกเพิ่มขึ้น โดยจีนทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาข้าวโดยใส่งบประมาณเต็มรูปแบบ ทั้งอุดหนุน วิจัย พัฒนาพันธุ์ และเทคโนโลยี จากประเทศที่ข้าวกินไม่พอ สู่ประเทศที่ส่งออกข้าว ไทยคิดเรื่องนี้อย่างไร”