ทูตสหรัฐฯ ย้ำความสัมพันธ์ไทย-อเมริกา รับความท้าทายเลือกตั้งสหรัฐ 2567

21 ส.ค. 2567 | 07:00 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2567 | 07:04 น.

ทูตสหรัฐฯ พร้อมรับความท้าทายเลือกตั้งประธานาธิบดี 2567 ย้ำ ไม่ว่าผลเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์หุ้นส่วนไทย-สหรัฐยังเหนียวแน่น

วันที่ 17 สิงหาคม 2567 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ "การทำข่าวเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา" สำหรับสื่อมวลชนไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ให้กับสื่อมวลชนและสาธารณชนชาวไทย

 

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน โดยเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปี 2567 ว่าเป็นปีแห่งการเลือกตั้งทั่วโลก ท่านทูตกล่าวว่า "ภายในสิ้นปีนี้ ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งใน 70 ประเทศทั่วโลกจะได้เข้าคูหาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นับเป็นปีที่มีการเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์"

โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งจะเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 60 ของสหรัฐอเมริกา โดยกล่าวว่า "วันนี้จะเป็นวันที่ทั่วโลกจับตามองอเมริกา เราจึงต้องทำให้ถูกต้อง เราต้องเป็นผู้นำโดยการเป็นแบบอย่าง และหาหนทางที่จะสนับสนุนให้ประชาชนทั่วโลกได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือกระบอบการปกครองของตนเอง"

 

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน โดยอ้างอิงคำกล่าวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ว่า "โลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และระบอบประชาธิปไตยกำลังเผชิญกับความท้าทายในทุกมุมโลก" ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีรัฐและผู้ปกครองเผด็จการที่แข็งกร้าวมากขึ้น รวมถึงการแข่งขันและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ในบริบทของสื่อปัจจุบัน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวสารที่ถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์ โดยกล่าวว่า "ในยุคที่ข้อมูลบิดเบือนและข่าวปลอมแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยผู้ที่พยายามบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก บทบาทของสื่อมวลชนในการส่งเสริมการรายงานข่าวที่ถูกต้องเที่ยงตรงและปกป้องความโปร่งใสจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคย"

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ จะมีผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ?

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า "ประเทศไทยและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรกันมาช้านาน จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไปในอนาคต ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยของเรา"

 

แม้นโยบายการต่างประเทศอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามรัฐบาลแต่ละสมัย แต่หลักการพื้นฐานยังคงไม่เปลี่ยนแปลง หลักการนำทางทั่วไปของนโยบายการต่างประเทศยังคงสม่ำเสมอเช่นเดิมตลอดหลายปี ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความรุ่งเรือง และความสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

ทางเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้ย้ำว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศ ประเทศไทยจะยังคงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับสหรัฐฯ ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยมีความยาวนานกว่า 190 ปีแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เข้ามาสู่ทำเนียบขาว และไม่ว่ายุคสมัยนั้นจะเป็นเช่นไร ประเทศไทยจะยังคงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ความเป็นหุ้นส่วนยังคงแข็งแกร่ง และจะยังคงเป็นพันธมิตรที่มุ่งมั่น

 

หากผลการเลือกตั้งไม่ตรงกับคะแนนนิยม กระแสจากสาธารณชนจะเป็นอย่างไร?

เมื่อกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ "คามาลา แฮร์ริส" อาจชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเชื้อสายอินเดียคนแรก ในขณะที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" อดีตประธานาธิบดีได้รับความนิยมมากกว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐฯกล่าวว่า การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ดังนั้นไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ชาวอเมริกันก็ยังคงมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

 

รัฐธรรมนูญของสหรัฐปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าผลลัพธ์ของการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ชาวอเมริกันก็ยังคงมีสิทธิ เสรีภาพในการสมาคม การแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ หรือการจัดการต่างๆ เมื่อต้องการการเปลี่ยนแปลง

 

อย่างไรก็ตาม สิทธิในการประท้วงอย่างสงบได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญในสหรัฐเหมือนเช่นที่ผ่านมา และต่อไปในอนาคต แต่การประท้วงที่ก่อการจลาจลและรุนแรงจะไม่ได้รับการยอมรับ โดยอ้างคำพูดของประธานาธิบดีไบเดนที่ว่า "ไม่มีที่ให้กับความรุนแรงในระบอบประชาธิปไตยของเรา"

 

ท้ายที่สุด เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและทันการณ์ต่อสาธารณชน โดยกล่าวว่า การรายงานข่าวอย่างถูกต้องเริ่มจากการเข้าใจกระบวนการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง อีกทั้งระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ มีความซับซ้อน โดยมีการเลือกตั้งหลายระดับตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ

 

พร้อมทั้งย้ำเตือนถึงความท้าทายของข้อมูลที่ผิดและข้อมูลบิดเบือน โดยเฉพาะในยุคของ AI ที่สามารถสร้างเนื้อหาได้ ซึ่งอาจสร้างภาระเพิ่มขึ้นในการทำงานของสื่อมวลชน และเน้นย้ำว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้กับสาธารณชน